Based on: https://reformationproject.org/case/romans/
อ่าน รม. 1 : 26-32
คำถามชวนคุย 🗣️
- คุณคิดยังไงกับการที่เปาโลสอนว่า ผู้ชายไว้ผมยาวเป็นเรื่องน่าอายเพราะขัดกับธรรมชาติ (1 คร. 11:14)
คุณอาจเคยได้ยินมาว่า
ในพระธรรมโรม 1 เปาโลประณามพฤติกรรมรักร่วมเพศ ว่ามันนั้นน่าละอายและผิดธรรมชาติ ดังนั้น โบสถ์จึงต้องปฏิเสธความสัมพันธ์เหล่านี้
แต่บทนี้กำลังจะนำเสนอว่า
ในพระธรรมโรม 1:26-27 เปาโลประณามพฤติกรรมมักมากในกามของกลุ่มชายรักชาย และกลุ่มหญิงรักหญิง
“เพราะเหตุนี้ พระเจ้าทรงปล่อยให้เขามีกิเลสตัณหาอันน่าอัปยศ พวกผู้หญิงของเขาก็เปลี่ยนจากเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ ให้ผิดธรรมชาติไป ส่วนผู้ชายก็เลิกมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงให้ถูกตามธรรมชาติเช่นกัน และเร่าร้อนด้วยไฟราคะตัณหาที่มีต่อกัน ผู้ชายกับผู้ชายด้วยกันประกอบกิจอันน่าละอายอย่างยิ่ง เขาจึงได้รับผลกรรมอันสมควรแก่ความผิดของเขา” -โรม 1:26-27
- ในพระธรรมโรมบทที่ 1-3 เปาโลโต้แย้งว่าทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนยิวหรือคนต่างชาติ ต่างต้องการความรอด ในพระธรรมโรมบทที่ 2 เปาโลพูดกับคนยิวด้วยกันเอง ว่าแม้จะละเมิดพระบัญญัติเพียงข้อเดียว พวกเขาก็ต้องไปขอคืนดีกับพระเจ้า
- ในพระธรรมโรมบทที่ 1 เปาโลกล่าวว่าคนต่างชาติก็ต้องการความรอดเช่นเดียวกัน เพราะแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีธรรมบัญญัติให้ละเมิด แต่ก็ได้ก้าวล่วงพระเจ้าด้วยความเชื่อที่ผิดๆ แทนที่จะนมัสการพระเจ้า พวกเขากลับบูชารูปเคารพ เพราะเหตุนั้น พระเจ้าจึงทรงปล่อยให้พวกเขาลุ่มหลงในกิเลสตัณหาของตัวเอง
- และพระเจ้ายัง “ทรงปล่อยให้พวกเขาทำตามกิเลศราคะในใจตน” ทำให้มีอาการ “เร่าร้อนด้วยไฟราคะตัณหา” และนำไปสู่พฤติกรรมรักร่วมเพศในที่สุด
ในโลกสมัยโบราณ ผู้คนตั้งสมมติฐานว่า ทุกคนสามารถมีความสุขกับการร่วมเพศกับเพศตรงข้าม แต่คนบางกลุ่มอาจมีพฤติกรรมที่นอกเหนือจากนั้น ด้วยความมักมากในกาม จึงทำให้พวกเขาชอบเพศเดียวกัน
- ในอรรถอธิบายของ John Chrysosttom ตรงโรม 1:26-27 เขียนไว้ว่า “ความใคร่ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเอาแต่ใจตัวเอง ที่ไม่อยู่ในขอบเขตอันสมควร”
- เปาโลไม่ได้กำลังประณามคนที่เป็นเกย์ ว่าแย่กว่าคนที่ไม่ได้เป็นเกย์ แต่เขากำลังประณามพฤติกรรมเอาแต่ใจตัวเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้จักพอประมาณ ข้อกังวลนี้เองที่เขาได้เน้นย้ำด้วยคำเช่น “ราคะ” และคำอธิบายที่ว่า ผู้คนได้ “แลกเปลี่ยน” และ “ละทิ้ง” เพศดั้งเดิมของตน
- แต่ความสัมพันธ์รักร่วมเพศที่มีการอุทิศตัวต่อกันและกัน ไม่ได้ถูกพูดถึงในพระธรรมโรม 1
คำถาม: ถึงแม้ว่าเปาโลจะโจมตีพฤติกรรมมักมากในกาม แต่เขาใช้คำว่า “ผิดธรรมชาติ” และ “น่าละอาย” กับความสัมพันธ์รักร่วมเพศ นั่นไม่ได้หมายความว่าเขามองความสัมพันธ์แบบนี้เป็นบาป ซึ่งไม่เกี่ยวว่าสองคนนั้นจะรักกันหรือคบกันมานานมากแค่ไหน
เปาโลใช้คำกรีกในโรม 1 เหล่านี้ใน 1 โครินธ์ 11 เช่นกัน ซึ่งเป็นบทที่ท่านพูดถึงเรื่องความยาวของผม แต่คริสเตียนส่วนใหญ่ทุกวันนี้เชื่อว่า คำที่เปาโลใช้ใน 1 โครินธ์ 11 อย่างเช่นคำว่า “ธรรมชาติ” (physis) หรือ “ความอัปยศ” (atimia) มีจุดประสงค์เพื่ออธิบายหลักธรรมเนียมในยุคศรรตวรรษที่หนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นกฏสากลที่คริสเตียนต้องทำตาม
จริงๆ แล้ว พระคัมภีร์มีการกล่าวถึงผู้ชายที่ไว้ผมยาว และไม่ได้พูดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าละอาย เช่นในกันดารวิถี 6:5 ที่ห้ามไม่ให้ชายผู้ปฏิญาณเป็นนาศีร์โกนศรีษะ และในผู้วินิจฉัย 16:17 จะเห็นได้ว่าการที่แซมสันถูกโกนศรีษะ กลับเป็นสิ่งที่น่าละอายในบริบทของท่าน เพราะพละกำลังของท่านมาจากความยาวของผม ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สิ่งที่คนคิดว่ามันน่ายกย่องหรือน่าละอาย แตกต่างกันตามยุคสมัยและวัฒนธรรม
แล้วถ้าคำว่า “ธรรมชาติ” และ “ความอัปยศ” ใน 1 โครินธ์ 11 มีนัยยะเชิงวัฒนธรรม เราจึงต้องตั้งคำถามว่า แล้วคำเหล่านี้ที่ถูกใช้ในโรม 1 เป็นเช่นนั้นด้วยหรือไม่
ในโลกสมัยโบราณ พฤติกรรมชายรักชายเป็นสิ่งที่น่าละอายและผิดธรรมชาติ เพราะคนที่เป็นฝ่ายรับถูกลดสถานะให้เป็นเหมือนผู้หญิง แต่เหตุผลดังกล่าวไม่ควรนำมาใช้กับคริสเตียน เพราะเราเชื่อว่าทั้งเพศชายและหญิงมีความสำคัญเท่ากัน
คำถาม: แล้วที่เปาโลพูดว่า “เขาจึงได้รับผลกรรมอันสมควรแก่ความผิดของเขา” ในพระธรรมโรม 1:27 เขาหมายความว่าอย่างไร?
- พระเจ้าลงโทษคนที่บูชารูปเคารพและไม่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า โดยปล่อยให้พวกเขาทำในสิ่งที่น่าละอาย
- เมื่อผู้ชายกลายเป็นคนปวกเปียก ผู้หญิงมีอำนาจเป็นใหญ่ และผู้คนขาดความยับยั้งชั่งใจ พฤติกรรมรักร่วมเพศจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอัปยศและเอาแต่ใจของมนุษย์ ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้พฤติกรรมรักร่วมเพศถูกใช้เป็นอุทาหรณ์ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมนุษย์เพิกเฉยที่จะถวายเกียรติพระเจ้า
- แต่ปัญหาที่เปาโลโฟกัสในพระธรรมโรม 1 ไม่คล้องจองกับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่สมรสเพศเดียวกันในปัจจุบัน ที่ถูกสร้างบนรากฐานของความรัก ความผูกพัน และความเสียสละ
คำถามชวนคุย 🗣️
- คุณได้เรียนรู้อะไรใหม่จากบทเรียนวันนี้บ้าง?