Source: https://wannalearnmore.com/poster/
มนุษย์มีสำนึกทางเพศที่หลากหลาย เราอาจจะแบ่งองค์ประกอบต่างๆ ได้ดังนี้
1. อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity)
คือ เพศที่บุคคลนั้นมองตนเอง
คำที่ใช้อธิบายอัตลักษณ์ทางเพศได้แก่
- ทรานส์เจนเดอร์/ข้ามเพศ (Transgender) คือ บุคคลที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด เมื่อนำไปใช้เรียกคนจะใช้คำว่า ทรานส์ (trans - adj.) นำหน้า เช่น trans man, trans woman
- ซิสเจนเดอร์/ตรงเพศ (Cisgender) คือ บุคคลที่อัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิด เมื่อนำไปใช้เรียกคนจะใช้คำว่า ซิส (cis - adj.) นำหน้า เช่น cis man, cis woman
- เมตาเจนเดอร์ (Metagender) คือ บุคคลที่ไม่ได้รู้สึกว่าตรงเพศหรือข้ามเพศ ซึ่งอาจรวมถึงคนที่เป็น non-binary หรือ agender ด้วย
- นอนไบนารี่ (Non-Binary) คือ บุคคลที่รู้สึกไม่ได้เป็นชายหรือหญิงอย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลที่เป็น non-binary อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นคนข้ามเพศ อาจเรียกย่อๆ ว่า เอ็นบี (enby - n.)
- เอเจนเดอร์/ไม่มีเพศ (Agender) คือ บุคคลที่ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นเพศใดๆ
- เจอเดอร์ฟลูอิด/เพศลื่นไหล (Gender Fluid) คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา (เช่น บางครั้งเป็นชาย เป็นหญิง หรือเพศอื่นๆ)
2. เพศกำเนิด (Assigned Gender/Sex at Birth)
คือ เพศที่ระบุในสูติบัตร โดยดูจากอวัยวะเพศเมื่อแรกเกิดเป็นหลัก เพศกำเนิดนั้นอาจจะแตกต่างจากเพศทางชีววิทยา (Biological sex) ซึ่งต้องดูจากหลายอย่างผสมกัน
คำที่ใช้อธิบายเพศกำเนิด เช่น
- เพศกำเนิดเป็นชาย (Assigned Male at Birth/AMAB) มีอวัยวะเพศชายเมื่อแรกเกิด
- เพศกำเนิดเป็นหญิง (Assigned Female at Birth/AFAB) มีอวัยวะเพศหญิงเมื่อแรกเกิด
- อินเตอร์เซ็กส์/เพศกำกวม (Intersex) เป็นความหลากหลายของอวัยวะเพศที่เกิดโดยธรรมชาติ โดยอวัยวะเพศอาจมีลักษณะผสมกันระหว่างอวัยวะเพศชายและหญิง บางคนที่มีเพศกำกวมอาจจะถูกระบุเป็นหญิงหรือชายในสูติบัตร
3. การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression)
คือลักษณะการแสดงออก ที่สังคมนิยามว่าเป็นลักษณะของเพศต่างๆ เช่น การแต่งตัว ท่าทาง คำพูดคำจา ทั้งนี้การแสดงออกทางเพศอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทสังคมและกาลเวลา รวมไปถึงสิ่งที่สังคมให้ค่าว่าเป็นหญิงหรือชายอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วย
- เป็นหญิง/สาว (Feminine) การแสดงออกที่สังคมนิยามว่าเป็นการแสดงออกของผู้หญิง
- เป็นชาย/แมน (Masculine) การแสดงออกที่สังคมนิยามว่าเป็นการแสดงออกของผู้ชาย
- แอนโดรจีนัส (Androgynous) การแสดงออกทั้งที่สังคมนิยามว่าเป็นหญิงและเป็นชาย หรือไม่แสดงออกไปทางเพศใดเพศหนึ่ง
4. เพศวิถี/แรงดึงดูดทางเพศ (Sexual Orientation)
คือ เพศของคนที่บุคคลนั้นมีแรงดึงดูดทางเพศด้วย คำนี้ในอดีตมักแปลว่า "รสนิยมทางเพศ" แต่เพศวิถีเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิดโดยไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้ จึงไม่ควรเรียกว่ารสนิยม ทั้งนี้ คำว่า "รสนิยมทางเพศ" บางครั้งยังใช้พูดถึงลักษณะของการมีเพศสัมพันธ์ที่คนนั้นชอบ ซึ่งเป็นไม่เกี่ยวข้องกับเพศวิถีแต่อย่างใด
เพศวิถีเป็นสิ่งที่ทุกคนมี แม้แต่คนที่ยังไม่ได้ประสบการณ์ทางเพศก็ตาม นอกจากนี้ ประสบการณ์ทางเพศของแต่ละคนอาจจะไม่สอดคล้องกับเพศวิถีก็เป็นได้
คำที่ใช้อธิบายเพศวิถี เช่น
- เฮเทอโรเซ็กชวล/ดึงดูดกับต่างเพศ (Heterosexual) มีแรงดึงดูดทางเพศกับเพศที่ต่างจากตนเอง
- โฮโมเซ็กชวล/ดึงดูดกับเพศเดียวกัน (Homosexual) มีแรงดึงดูดทางเพศกับเพศที่เหมือนกับตนเอง
- ไบเซ็กชวล/ดึงดูดหลายเพศ (Bisexual) มีแรงดึงดูดมากกว่า 1 เพศขึ้นไป
- แพนเซ็กชวล/ดึงดูดไม่เกี่ยงเพศ (Pansexual) มีแรงดึงดูดทางเพศโดยไม่เกี่ยวว่าคนนั้นเป็นเพศไหน
- เอเซ็กชวล (Asexual) มีแรงดึงดูดทางเพศน้อยมากหรือไม่มีเลย
- เดมิเซ็กชวล (Demisexual) มีแรงดึงดูดทางเพศน้อยมากหรือไม่มีเลยจนกว่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด
5. แรงดึงดูดทางใจ (Romantic Orientation)
คล้ายกับเพศวิถี แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกรักใคร่
คำที่ใช้อธิบายแรงดึงดูดทางใจ เช่น
- เฮเทอโรโรแมนติก/ชอบต่างเพศ (Heteroromantic) ชอบคนที่เพศต่างจากตนเอง
- โฮโมโรโรแมนติก/ชอบเพศเดียวกัน (Heteroromantic) ชอบคนที่เพศเหมือนตนเอง
- ไบโรแมนติก/ชอบหลายเพศ (Biromantic) ชอบมากกว่า 1 เพศขึ้นไป
- แพนโรแมนติก/ชอบไม่เกี่ยงเพศ (Panromantic) ชอบคนโดยไม่สนเพศ
- เอโรแมนติก (Aromantic) ไม่รู้สึกชอบพอเพศไหน หรือมีความรู้สึกน้อยมาก
- เดมิโรแมนติก (Demiromantic) ไม่รู้สึกชอบพอเพศไหน หรือมีความรู้สึกน้อยมากจนกว่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด
หมายเหตุ คำนิยามต่างๆ เหล่านี้เป็นคำที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป แต่อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ทั้งหมดที่มนุษย์พึงมี บางนิยามอาจมีความหมายทับซ้อนกัน เราสามารถเลือกใช้คำที่เรารู้สึกว่าใกล้เคียงที่สุดได้ และให้เรายอมรับคำที่ผู้อื่นใช้นิยามประสบการณ์ของเขาเช่นกัน
นอกจากศัพท์ที่เป็นทางการเหล่านี้แล้ว ยังมีคำที่ใช้เรียกกันทั่วไป เช่น
- เกย์ (Gay - adj.) ใช้เรียกคนที่ชอบเพศเดียวกัน (เป็น homosexual/homoromantic) ในภาษาอังกฤษใช้เรียกได้ทั้งชายรักชาย (gay man) และ หญิงรักหญิง (gay woman) ปัจจุบันคำนี้ในภาษาอังกฤษไม่ใช้ในรูปคำนาม (ผิด: He is a gay, ถูก: He is gay หรือ He is a gay man)
- เลสเบี้ยน (Lesbian - n./adj.) ใช้เรียกหญิงรักหญิง (gay woman)
- สเตรต (Straight - adj.) ใช้เรียกคนที่ชอบเพศตรงข้าม (เป็น heterosexual/heteroromantic) หรืออาจจะเรียกย่อๆ ว่า het (adj.) ได้
ในภาษาไทยยังมีอีกหลายคำที่ใช้เรียกปนเปกันระหว่างอัตลักษณ์ การแสดงออกทางเพศ แรงดึงดูดทางใจและทางเพศ เช่น ตุ๊ด กะเทย ทอม ดี้ คำเหล่านี้อาจจะถูกใช้ในการเหมารวมมากเกินไป จนอาจจะไม่เหมาะในการนำมาทำความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ดีพอ
ความทับซ้อนของอัตลักษณ์และเพศสภาพ
จากข้างต้น เราได้เห็นว่าเพศสภาพของมนุษย์นั้นมีหลายแง่มุมที่ประกอบกัน บางองค์ประกอบสามารถสังเกตเห็นได้โดยง่าย (เช่น การแสดงออกทางเพศ) แต่บางองค์ประกอบนั้นก็อาจจะมองไม่เห็นเลย หลายครั้งเราอาจจะเหมารวมเอาว่า การแสดงออกอย่างนี้สื่อหมายถึงสำนึกหรืออัตลักษณ์อย่างนั้น แต่มันอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงที่บุคคลนั้นรู้สึกก็ได้ การทำความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ จึงจำเป็นจะต้องรับฟังประสบการณ์ ความรู้สึก ของแต่ละบุคคล
ตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอาจจะเป็นผู้หญิงทรานส์ (transgender) คือเพศกำเนิดเป็นชาย (AFAB) แต่แสดงออกเป็นหญิง (feminine) แต่ก็อาจจะรักและมีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้หญิงด้วย (คือเป็นเลสเบี้ยน - homosexual) หรืออีกคน อาจจะมีเพศกำเนิดชาย (AMAB) ยังมีอัตลักษณ์และเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ชาย (cisgender) ส่วนใหญ่แสดงออกเป็นชาย (masculine) แต่มีความสาว (feminine) บ้างในบางสถานการณ์ มีแรงดึงดูดทางใจกับทุกเพศ (panromantic) แต่มีแรงดึงดูดทางเพศแต่กับผู้หญิง (heterosexual) เป็นต้น