Source: UNHRC (https://www.hrc.org/resources/what-does-the-bible-say-about-homosexuality)
เกริ่นนำ..
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity) เป็นประเด็นที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน และคำถามที่ถูกถามเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มคริสเตียน (จากรายงานของ Pew Research Center) คือ “พระคัมภีร์พูดถึงการที่ความรักระหว่างเพศเดียวกันว่าอย่างไร”
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้เขียนพระคัมภีร์ (biblical authors) ในยุคก่อนไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องรสนิยมทางเพศ (sexual orientation) อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน ความรักโรแมนติกระหว่างเพศเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นได้ทั่วไปในบริบททางสังคมในยุคนั้น และในการแปลพระคัมภีร์เอง คำว่า “รักร่วมเพศ (homosexuality)” ก็ไม่ได้มีปรากฎใช้อย่างเป็นทางการจนกระทั่งศตวรรษที่ 19 (ต่อไปนี้ผู้แปลจะใช้คำว่า ความรักระหว่างเพศเดียวกัน เพื่อเลี่ยงความหมายเชิงลบ)
กระนั้น แม้จะรู้กันดีว่าบริบททางสังคมในสมัยของผู้เขียนพระคัมภีร์ไม่ได้เหมือนกับสังคม ณ ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางความเชื่อ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ พระคัมภีร์ยังคงเป็นหนังสือที่คริสตชนใช้เพื่อแสวงหาแนวปฏิบัติหรือแนวความเชื่อที่ “เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า” และคงสิทธิอำนาจเหนือชีวิตคริสตชน (authority of the Bible) โดยไร้ข้อจำกัดทางบริบทและประวัติศาสตร์
คำถามจึงมีอยู่ว่า คริสเตียนจะสามารถยึดหลักข้อเชื่อดังกล่าว พร้อมกับสนับสนุน (affirm) ความหลากหลายทางเพศในเวลาเดียวกันได้หรือไม่
พระคัมภีร์คืออะไร?
โดยพื้นฐานแล้ว คริสเตียนเชื่อว่าพระเจ้าทรงดลใจเนื้อความในพระคัมภีร์ผ่านผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการทรงสร้าง การเข้ามาของบาป การกู้ไถ่ และความรอดผ่านพระเยซูคริสตเจ้า ดังนั้น พระคัมภีร์จึงเป็นหลักใหญ่ใจความความของการดำเนินชีวิตในแบบคริสเตียนมาทุกยุคทุกสมัย
แต่การจะชี้ผิดชี้ขาดจากพระคัมภีร์นั้นไม่ง่าย เนื่องจากพระคัมภีร์หนึ่งเล่มมีผู้เขียนหลายคน และเขียนขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน (เช่น พันธสัญญาเก่าและพันธสัญญาใหม่) ดังนั้น การทำความเข้าใจลักษณะทางภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และบริบททางวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงแต่เพื่อเข้าใจถึงหลักในการดำเนินชีวิตในฐานะคริสตชน เพื่อที่จะเข้าใจพระลักษณะของพระเจ้าได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
พวกเราคริสเตียนอาจจะคุ้นเคยกับคำกล่าวในพระธรรมฮีบรูที่ว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเหมือนเดิมทั้งวานนี้ และวันนี้ และตลอดไปเป็นนิตย์” (ฮีบรู 13:8) ซึ่งมักจะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนหลักคำสอนทางศาสนศาสตร์ให้เป็นเหมือนคำสอนที่นิ่งแล้ว สัมบูรณ์แล้ว ไม่สามารถโต้แย้งได้แล้ว แต่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า ความสามารถของเราที่จะทำความเข้าใจคำสอนในพระคัมภีร์และนำมาปรับใช้ในชีวิตนั้น ปรับเปลี่ยนและขยับขยาย เมื่อเราเติบโต เรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับโลกนี้ที่พระเจ้าสร้าง
การตีความพระคัมภีร์คืออะไร?
ในวงการคริสต์ศาสนา มีสิ่งที่เรียกว่า affirming theology หรือเทววิทยาที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ (กล่าวคือ ไม่เชื่อว่าการมีความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นบาป รวมถึงยอมรับการมีตัวตนของคนข้ามเพศ) การตีความพระคัมภีร์เช่นนี้มักจะถูกตีตราจากคริสเตียนอีกฝ่ายว่า ไม่เคารพพระคัมภีร์ เป็นการใช้ความรู้สึกส่วนตน มุมมองเชิงศีลธรรมแบบโลก เข้ามา “มีอำนาจเหนือ” สิทธิอำนาจของพระคัมภีร์ (เนื่องจากอีกฝ่ายหนึ่งตีความไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ไม่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ มองว่าความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นบาป)
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากข้อโตแย้งของทั้งสองฝ่ายคือ การที่ต่างฝ่ายต่างมองว่าการตีความของตนนั้น “สัมบูรณ์” และ “เป็นกลาง” ไร้ซึ่งข้อจำกัดทางบริบทและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามผู้เขียนต้องการชวนให้เราขบคิดว่า แล้วการตีความพระคัมภีร์มันมีจุดที่สัมบูรณ์ เป็นวัตถุวิสัย และเป็นกลางหรือไม่ ถ้ามี อะไรกันเป็นตัววัดว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพียงสิ่งเดียว
การศึกษาการตีความพระคัมภีร์ในทางศาสนศาสตร์เรียกว่า “Hermeneutics” ถ้านึกภาพไม่ออก ให้เรานึกถึงเวลาที่เราเปิดพระคัมภีร์ขึ้นมาบทหนึ่ง อ่านข้อพระธรรมนั้น พร้อมกับตั้งคำถามว่า “พระธรรมข้อนี้กำลังบอกอะไรกับเรา” หรือ “พระธรรมข้อนี้หมายความว่าอย่างไร” Hermeneutics จะเข้ามามีบทบาทในกรณีเช่นนี้เอง ดังนั้นเพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านตั้งคำถามเล่นๆ ว่า “พระคัมภีร์กล่าวถึง LGBTQ+ ว่าอย่างไร”
การจะตอบคำถามดังกล่าว เราจะต้องเริ่มจากการสำรวจข้อพระธรรมที่เกี่ยวข้อง มองเข้าไปในบริบทของสำเนาต้นฉบับ และเทียบกับบริบทของเราในปัจจุบัน ในกรณีนี้ โดยพยายามเข้าใจนัยที่พระคัมภีร์ต้องการจะสื่อ และ implication ต่อพวกเราคริสตชนในยุคปัจจุบัน
ความน่าสับสนของการตีความพระคัมภีร์แบบไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ
หากเราถามคริสเตียนสายอีแวนเจลิคอล (Evangelical) หรือสายอนุรักษ์นิยมอื่นๆ ว่า “พระคัมภีร์กล่าวประณามความรักหรือความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเพศเดียวกันใช่หรือไม่” คำตอบที่ได้อาจจะเป็น “ใช่ ความรักหรือความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเพศเดียวกันไม่ได้สะท้อนถึงเจตจำนงค์ในการทรงสร้างของพระเจ้า” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สำหรับคริสเตียนกลุ่มนี้ พระเจ้าไม่ได้สร้างให้มนุษย์รักร่วมเพศกัน
เหตุที่พวกเขาเข้าใจเช่นนี้มีมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ
(1) การตีความที่ (พวกเขานึกไปว่า) ไม่ลำเอียงจากข้อพระคัมภีร์ข้อที่เกี่ยวข้อง
(2) ความเชื่อหลักที่ว่าความเป็นชาย-หญิงเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิตสมรสของคริสเตียน ส่วนหลังเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากในพระคัมภีร์ใหม่ได้มีการอุปมาชีวิตสมรสของคริสเตียน เป็นเสมือนความรักระหว่างพระคริสต์และ “เจ้าสาว” (ในที่นี้คือคริสตจักร - โดยที่พระคริสต์ถูกมองเป็นชาย และคริสตจักรถูกมองเป็นอีกขั้ว คือ หญิง) การมองในลักษณะนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันไม่สามารถที่จะมองเทียบในระนาบเดียวกันได้ กล่าวคือ ไม่สามารถมองความสัมพันธ์ลักษณะนี้ในเชิง “ความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันระหว่างเพศสองเพศที่ต่างกันได้ (gender complementarity)”
Gender complementarity (ต่อไปนี้ผู้แปลจะขอใช้ทับศัพท์) ยังปรากฎในพระคัมภีร์ปฐมกาลบทที่ 1 และ 2 ที่พระเจ้าได้เริ่มต้นด้วยการสร้าง “ชายและหญิง” ขึ้นมาก่อน (ซึ่ง “ชายและหญิง” เองเป็นเพียงการสะท้อนความสลับซ้อนซ้อนของโครโมโซม ระบบสืบพันธ์ ยีนส์ และอวัยวะสืบพันธ์เท่านั้น) สิ่งนี้เอง บวกกับข้อพระธรรมต่างๆ ที่ปรากฏในการพูดถึง ชาย-หญิง (ไม่มีการพูดถึง ชายและชาย และหญิงและหญิง) ทำให้คริสเตียนสายอนุรักษ์นิยมมอง มนุษย์ชายและหญิงเท่านั้นคือสิ่งที่พระเจ้าสร้าง และเป็นสิ่งที่พระเจ้ายอมรับในความสัมพันธ์รักโรแมนติกระหว่างคนสองคน
สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อโต้แย้งจากคริสตชนที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศคือ การมองว่า affirming theology เป็นการนำศีลธรรมของโลกยุคปัจจุบัน หรือการตีความแบบแนวคิดในโลกยุคปัจจุบัน ไปมีอำนาจเหนืออำนาจพระคัมภีร์ในฐานะที่เป็นอำนาจสูงสุดของชีวิตคริสตชน แต่คำถามคือ การกล่าวเช่นนี้นั้นยุติธรรมแล้วหรือไม่
มาถึงจุดนี้เอง ผู้เขียนเองต้องการให้ผู้อ่านย้อนกลับไปที่คำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ต้นไม้ดีย่อมให้ผลดีและต้นไม้เลวย่อมให้ผลเลว” (มัทธิว 7:17-18) พระธรรมข้อนี้เองก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคริสตชนมามากมายในอดีต คำสอนของพระเยซูนี้ไม่ได้ชี้ให้เราย้อนกลับไปหาบริบทหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ในอดีต แต่กลับทำให้คริสตชนยุคแรกเริ่มเริ่มที่จะเชิญชวนคนต่างชาติ (gentiles) เข้ามามีส่วนในอาณาจักรของพระเป็นเจ้า (กิจการ 15:1-19) และด้วยคำสอนของพระเยซูอีกเช่นกัน ที่ทำให้คริสตชนตัดสินใจยุติระบบทาส รวมถึงสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรีในคริสตจักร
ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้หมายความว่าเราควรให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในชีวิตหรือบริบทและศีลธรรมของโลกยุคปัจจุบันมากกว่าพระคัมภีร์ แต่ผู้เขียนอยากให้เชิญชวนให้กลับไปพิจารณาถึงความอยุติธรรมและความร้ายแรงของผลกระทบจากความเชื่อบางอย่างที่คริสตชนยึดถือมาช้านาน ว่าสิ่งนั้นสะท้อนถึงน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าหรือไม่
สำหรับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ บางครั้งจะมีการโน้มน้าวให้ละทิ้ง “พฤติกรรมความรักความสัมพันธ์ต่อเพศเดียวกัน” (homosexual lifestyle) โดยคริสตชนที่ไม่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศมักจะยกข้อพระธรรมที่ว่าให้กลุ่ม LGBTQ+ “แบกกางเขน” ตามแบบที่พระเยซูแบก (นั่นคือ ให้พวกเขาละทิ้งตัวตนของพวกเขา โดยมองว่าเป็นการกระทำอดทนอดกลั้นตามแบบที่พระเยซูทรงได้กระทำตามพระวารสาร) โดยมองว่าเป็นการสะท้อนถึงการเป็นสาวกที่แท้จริงของพระคริสต์ (มัทธิว 16:24) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากจะสะท้อนให้เห็นว่า คำสอนของพระเยซูเจ้านั้นสอนให้พวกเราทนทุกข์เพื่อไถ่ (redemptive suffering) มากกว่า ไม่ได้สอนให้ทนทุกข์จากการถูกกดขี่ (oppressed) ทางเพศ จากสังคมที่บีบให้เพศหลากหลายเป็นบาปและเป็นชายขอบ
แล้วสรุปข้อพระธรรมที่มักจะถูกยกขึ้นมาปฏิเสธเพศหลากหลายและความรักระหว่างเพศเดียวกัน มันกำลังพูดถึงอะไรกันแน่?
หากพิจารณาถึงมุมมองทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภาษาศาสตร์ จะพบว่าข้อพระธรรม 6 ข้อที่มักจะถูกยกขึ้นมาต่อต้านความหลากหลายทางเพศนั้น จริงๆ แล้วกล่าวถึง การหมกมุ่นในกามระหว่างเพศเดียวกัน (same-sex eroticism) ในสมัยโบราณ ซึ่งต่างจาก “ความสัมพันธ์ที่ประกอบด้วยความรักที่มีให้กันกันและกันระหว่างเพศเดียวกัน” (same-sex relationship of love & mutuality) ในแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
คริสเตียนเราจะคุ้นเคยเกี่ยวกับการยกเรื่องของโสดมและโกโมราห์ (ปฐมกาล 19) รวมถึงเรื่องราวของคนเลวีและภรรยาน้อย (ผู้วินิจฉัย 19) มากล่าวอ้างว่า ความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือในแวดวงคริสตชนทางตะวันตกมักจะเรียกว่า abomination for God อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องการเสนอการตีความในอีกแบบหนึ่งว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของความรุนแรงทางเพศ และเรื่องทางวัฒนธรรมของการลดทอน “เกียรติของชาย” (ชายถูก “ทำให้เป็นหญิง” (femininized) ด้วยการร่วมเพศทางทหารหนัก) ในแถบตะวันออกใกล้โบราณ (Ancient Near East)
อีกข้อพระธรรมหนึ่งที่มักจะยกขึ้นมาอ้างคือ “เจ้าอย่าสมสู่กับผู้ชายใช้ต่างผู้หญิง” (เลวีนิติ 18:22 และ 20:13) ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า ที่มีการกล่าวไว้เช่นนั้น มิใช่เพราะพระเจ้าไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศหรือมองว่าเป็นบาป แต่เพราะเป็นผลมาจากบริบทของสังคมที่กังวลเรื่องสุขภาพ การสืบสกุล และความต้องการเชิงวัฒนธรรมที่ต้องการทำให้อิสราเอลแยกตัวออกมาจากชาติรายล้อม เฉพาะพระพักตร์ของเป็นเจ้า
ในพระคัมภีร์ใหม่เองก็มีพระธรรม 2 ข้อที่มักถูกอ้างถึงในกรณีเดียวกันเช่นกัน นั่นคือ 1 โครินธ์ 6:9 และ 1 ทิโมธี 1:10 แต่การตีความแบบ affirming จะทำให้เราพบว่าพระธรรมเหล่านั้นนำเสนอเรื่องการกดขี่/ขูดรีดทางเพศของชายที่มีอายุมากกว่า กระทำต่อเด็กผู้ชายมากกว่า (sexual exploitation of young men by older men, or “pederasty”) และสิ่งที่เราอ่านในจดหมายของอาจารย์เปาโลถึงชาวโรมัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกล่าวโจมตีการนับถือรูปเคารพและตัณหาที่มากเกินพอดี (excessive lust) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความต้องการ “บริโภค” มากกว่าที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยรักและหัวใจแห่งการรับใช้
นอกจากนั้น คริสเตียนในศตวรรษแรกยังไม่เข้าใจถึงแนวคิดว่าด้วย “รสนิยมทางเพศ” (sexual orientation) (ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนพระคัมภีร์นั้นผิดพลาดแต่อย่างไร) นั่นหมายความว่า การต่อต้านและกีดกันความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน และ LGBTQ+ นั้นไม่ได้มาจากตัวพระคัมภีร์ แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการตีความมากกว่า ซึ่งนั่นทำให้เราต้องกลับไปมองเทววิทยาว่าด้วยชีวิตสมรสของคริสเตียนกันใหม่
ถ้าเพศที่ต่างกัน (sex differentiation) และ gender complementarity ไม่ได้เป็นพื้นฐานของชีวิตคู่ของคริสเตียน แล้วอะไรล่ะที่เป็น?
มุมมองที่ได้เสนอมาข้างต้นไม่เพียงแต่ทำให้เรามองความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนในมุมมองที่เป็นมิตรต่อเพศหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น แต่ความพยายามดังกล่าวยังทำให้เราฉุกคิดถึงความหมายของการสมรสในทุกๆ เพศอีกด้วย
พระธรรมปฐมกาล 2 ถึงมัทธิว 19 และเอเฟซัส 5 ได้สะท้อนอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของชีวิตสมรสสำหรับคริสตชน (และเราสามารถพบสิ่งนี้ได้ตลอดพระคัมภีร์ทั้งเล่ม) นั่นคือ “ชีวิตสมรสในฐานะเครื่องสะท้อนถึงความรักอันไม่มีสิ้นสุดระหว่างพระคริสต์และคริสตจักร” ชีวิตคู่ของคริสเตียนเป็นการแสดงออกถึงความรักของพระเจ้า ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดล้วนนำคริสเตียนไปสู่ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การเป็นผู้ฟังที่ดี ความเสียสละ และสิ่งที่แสดงออกถึงการ “รักเพื่อนบ้านเสมือนรักตนเอง” ชีวิตคู่เป็นการสะท้อนความรักที่แท้จริงและงดงาม ความรักที่เสียสละได้แม้กระทั่งตนเอง ความรักที่อดทนนาน ความรักที่ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ นั่นคือ ความรักระหว่างพระเจ้าและสิ่งทรงสร้างของพระองค์ ซึ่งสิ่งนี้เองได้สะท้อนผ่านพระเยซูคริสตเจ้า
เมื่อพิจารณาตลอดประวัติศาสต์ของคริสตจักร ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับโลกใบนี้และผู้คนรอบตัวนำพาให้คริสเตียนพิจารณาความเชื่อของตนบ่อยครั้ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราคริสเตียนไม่ควรจะเชื่อพระคัมภีร์ แต่เป็นการเชื้อเชิญให้เรากลับไปทบทวนข้อพระธรรมต่างๆ โดยนำประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาด้วย
นักวิชาการพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ Daniel Kirk ได้ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือไปจากเทววิทยาแล้ว พระเจ้าได้ต้อนรับชาว LGBTQ+ เข้ามามีส่วนร่วมสนิทกับพระองค์อย่างเห็นได้ชัด และบรรดาคริสตจักรมีหน้าที่ที่จะต้องให้เกียรติและต้อนรับ ดังที่ได้ปรากฎในพระธรรมลูกาบทที่ 15 ☺
Translated & interpreted by: Kevin