มุมมองต่างๆ เกี่ยวกับ LGBTQ
ที่มา: Generous Spaciousness โดย Wendy VanderWal-Gritter ผู้นำพันธกิจที่ช่วยเหลือ LGBTQ
- เป็นการปฏิเสธพระเจ้า (เรียกร้องให้กลับใจ)
- เป็นอาการป่วย หรืออาการเสพติด (เรียกร้องให้หลีกหนี)
- เป็นความแตกสลายของมนุษย์ (เรียกร้องให้ช่วยเหลือ)
- เป็นความหลากหลายโดยธรรมชาติ (เรียกร้องให้น้อมรับและชื่นชม)
LGBTQ เกิดจากการปฏิเสธพระเจ้า การกลับใจและยอมจำนนต่อพระคริสต์จะนำไปสู่การชำระให้บริสุทธิ์ ซึ่งอาจหมายถึงการหมดความต้องการต่อเพศเดียวกัน หรือมีความต้องการต่อเพศตรงข้าม
แนวคิดนี้ไม่สอดคล้องกับประสบการณ์ของคริสเตียนที่ผ่านพันธกิจแก้เกย์ ซึ่งเกือบทุกคนไม่ได้มีเพศวิถีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้เชื่อในแนวคิดนี้มักจะอ้างว่าคนเหล่านี้มีความเชื่อไม่เพียงพอ หรือปฏิบัติไม่เคร่งครัด คำอ้างเหล่านี้ทำร้ายความรู้สึกของคริสเตียน LGBTQ เป็นอย่างมาก
LGBTQ เป็นความอ่อนแอทางศีลธรรม คริสเตียนควรต่อสู้โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่จะกระตุ้นความรู้สึกในเชิง LGBTQ เช่น ไม่เรียกตัวเองว่าเป็น LGBTQ ครองตัวเป็นโสด ไม่คบหาคนที่เป็น LGBTQ ไม่เสพสื่อหรือทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ
ปัญหาของแนวคิดนี้ คือการพยายามโกหกตัวเองจะนำไปสู่การใช้ชีวิตแบบแยกส่วน และสุดท้ายเมื่อทนไม่ไหวก็อาจจะเกิดระเบิดออกมาจนทำร้ายคนรอบข้างหรือทำร้ายตนเองได้ ทั้งนี้มุมมองนี้ยังขัดแย้งกับงานวิจัยทางจิตวิทยาที่แสดงให้เห็นว่า LGBTQ ที่ยอมรับตัวเองได้ ไม่มีความแตกต่างในเรื่องความสุขและการปรับตัวเข้าสังคมเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เป็น LGBTQ
LGBTQ เป็นสภาพที่เกิดจากโลกที่ตกอยู่ในความบาป ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้า แต่ก็ไม่เกินกว่าพระคุณ และไม่ได้เกิดจากบาปของใครคนใดคนหนึ่ง บุคคลซึ่งเป็น LGBTQ จึงต้อง “รับกางเขนของตนแบกทุกวัน”
ทางเลือกปฏิบัติของ LGBTQ นั้นจึงต้องคำนึงคล้ายกับสถาวะแตกสลายอื่นๆ เช่น เราสร้างรถเข็นให้ผู้พิการ เราให้ผู้เป็นหมันรับเลี้ยงเด็กได้ แม้สภาพเหล่านี้ไม่อาจเทียบเคียงกับประสบการณ์ของ LGBTQ ได้ แต่เราอาจจะพอเห็นว่าเราต้องช่วยเหลือให้ LGBTQ มีชีวิตที่บริบูรณ์ เช่น หากเราเชื่อว่าพระเจ้าให้ชีวิตสมรสสำหรับคู่ชายหญิง เราอาจจะยอมให้ LGBTQ มีคู่ชีวิตที่ไม่มีเพศสัมพันธ์กันได้ หรือ LGBTQ ที่ต้องการมีลูก ก็สามารถอุปการะเด็กได้ บางคนอาจจะมองว่า พระคุณของพระเจ้าสามารถอนุญาตให้ LGBTQ แต่งงานกันก็ได้
ปัญหาของการมอง LGBTQ เป็นความแตกสลายคืออาจทำให้ LGBTQ เกิดความรู้สึกว่าเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง และเกิดการเลือกปฏิบัติ พระคัมภีร์เน้นเรื่องการเลือกปฏิบัติหลายครั้ง และย้ำให้เรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
LGBTQ เป็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นทั่วไปในธรรมชาติ เช่นเดียวกับลักษณะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับประชากรส่วนน้อย เช่น การถนัดซ้าย หรือการมีตาสองสี แม้ในอดีตสังคมอาจจะมองว่าผิดปกติ แต่ปัจจุบันเราได้เรียนรู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งเราควรน้อมรับและชื่นชม
ในมุมมองนี้ พระเจ้าได้ใช้ความแตกต่างของ LGBTQ ในการเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่สามารถช่วยยกระดับสังคมและมนุษยชาติได้
ความเชื่อที่แตกต่าง
อ่าน โรม 14:1-7, 13-14, 21-23 (NTV ตัดตอนมาเพื่อให้กระชับ)
จงรับผู้ที่ยังมีความเชื่ออ่อนแอ แต่อย่าโต้เถียงกับเขาในเรื่องความคิดเห็นส่วนตัว คนหนึ่งเชื่อว่าจะรับประทานอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ผู้ที่ยังมีความเชื่ออ่อนแอรับประทานแต่ผักเท่านั้น อย่าให้คนที่รับประทานทุกสิ่งดูหมิ่นคนที่ไม่รับประทาน และอย่าให้คนที่ไม่รับประทานกล่าวโทษคนที่รับประทาน เพราะพระเจ้าได้รับเขาไว้แล้ว ท่านเป็นใครที่จะกล่าวโทษผู้รับใช้ของผู้อื่น เขาจะยืนหยัดได้หรือล้มลงก็แล้วแต่นายของเขา และเขาจะยืนหยัดได้แน่ เพราะพระผู้เป็นเจ้าสามารถเป็นผู้โปรดให้เขายืนหยัดได้
คนหนึ่งถือว่าวันหนึ่งสำคัญกว่าอีกวันหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งถือว่าทุกวันเหมือนกัน จงให้แต่ละคนมีความแน่ใจในความคิดของตนเถิด คนที่ถือวันก็ถือเพื่อเป็นเกียรติแด่พระผู้เป็นเจ้า และคนที่รับประทานก็เพื่อเป็นเกียรติแด่พระผู้เป็นเจ้า เพราะเขาขอบคุณพระเจ้า และผู้ที่ไม่รับประทานก็เพื่อเป็นเกียรติแด่พระผู้เป็นเจ้า และขอบคุณพระเจ้าด้วย …
ฉะนั้น เราอย่ากล่าวโทษกันและกันอีกเลย แต่จงตัดสินใจให้แน่วแน่ว่า จะไม่ทำให้พี่น้องสะดุดใจหรือฉุดรั้งเขาไว้ ข้าพเจ้าทราบและเชื่อแน่ในพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าว่า ไม่มีสิ่งใดที่เป็นมลทินในตัวเองเลย แต่คนที่คิดเองว่าสิ่งใดเป็นมลทิน สิ่งนั้นก็เป็นมลทินสำหรับคนๆ นั้น …
ถ้าการรับประทานเนื้อสัตว์หรือดื่มเหล้าองุ่น หรือกระทำสิ่งใดที่ทำให้พี่น้องของท่านสะดุดใจก็อย่าทำเลยเสียดีกว่า สิ่งใดในเรื่องเหล่านี้ที่ท่านเชื่อ ท่านจงนึกเสียว่าเป็นเรื่องระหว่างท่านกับพระเจ้า ผู้ใดไม่กล่าวโทษตนเองในสิ่งที่ตนเห็นชอบแล้ว ก็เป็นสุข แต่ถ้าคนที่รับประทานมีความสงสัยก็ถูกกล่าวโทษ เพราะเขาไม่ได้รับประทานตามความเชื่อ และสิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้เกิดจากความเชื่อก็เป็นบาป
คำถาม
- ในความเห็นของเปาโล ผู้ที่มีความเชื่ออ่อนแอ กับ ผู้ที่มีความเชื่อเข้มแข็ง มีความเชื่อต่างกันเกี่ยวกับเรื่องของอาหารอย่างไร
- ทั้งสองกลุ่มน่าจะมีท่าทีต่อกันอย่างไร จึงเป็นเหตุในเปาโลตักเตือน ทำไมเขาจึงมีท่าทีเช่นนั้น
- เหตุใดเปาโลถึงไม่ให้โต้เถียงกันเรื่องนี้
- ในกาลาเทีย 2:11-14 เปาโลได้ต่อว่าเปโตรที่ไม่ยอมรับประทานอาหารร่วมกับชาวต่างชาติ เพื่อเอาใจพวกยิวที่มีความเชื่อเช่นนั้น แม้เปโตรเองจะไม่ได้เชื่อแบบนั้นก็ตาม ในเหตุการณ์นี้ มีความแตกต่างจากที่เปาโลพูดถึงความแตกต่างของความเชื่ออย่างไร เหตุใดเปาโลจึงคิดว่าเปโตรทำไม่ถูกต้อง
- คริสเตียนที่มีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ ที่แตกต่างกัน ควรมีแนวทางการปฏิบัติตนอย่างไร
ผู้ที่มีความเชื่ออ่อนแอรับประทานแต่ผักเท่านั้น (ในสมัยโรมันเนื้อที่ขายตามท้องตลาดเป็นเนื้อที่ผ่านการถวายบูชาเทพเจ้า) ผู้ที่มีความเชื่อเข้มแข็งรับประทานได้ทุกอย่าง
คนที่รับประทานทุกสิ่งดูหมิ่นคนที่ไม่รับประทาน (หาว่าคนที่ไม่กินเนื้อยึดตึดกับธรรมเนียมโบราณ ไม่เปิดใจ) คนที่ไม่รับประทานกล่าวโทษคนที่รับประทาน (หาว่าคนที่กินเนื้อทำบาป)
เพราะทั้งคู่ต่างก็ปฏิบัติตามความเชื่อของตนในการถวายเกียรติแด่พระเจ้า เมื่อทำตามความเชื่อก็ไม่บาป หากเราไปฝืนความเชื่อของอีกฝ่าย เราก็เป็นเหตุให้เขาทำบาป
การเลือกรับประทานอาหารเป็นความเชื่อส่วนตัว แต่การแบ่งแยกโต๊ะอาหารระหว่างคนยิวกับคนต่างชาติเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้ชาวต่างชาติรู้สึกด้อยค่า สิ่งนี้ไม่ใช่การแสดงความรักอย่างเช่นการเลือกไม่กินอาหารที่อีกฝ่ายรังเกียจ
ในเรื่องชีวิตส่วนตัว ทุกฝ่ายควรปฏิบัติตามความเชื่อของตนเอง ผู้ที่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นความบาปก็ไม่ควรมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องให้เกียรติความเชื่อของกันและกันด้วย และต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความรักและความเท่าเทียม ไม่ใช้เหตุที่ความเชื่อแตกต่างกันมาทำให้เลือกปฏิบัติ